เทคนิคเพิ่มประสิทธิภาพให้การทำงาน ในรูปแบบ Remote Working ที่ทุกองค์กรต้องรู้
แชร์บทความนี้ไปยัง ...
จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ต้องทำให้หลายองค์กรต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบของการทำงานอย่างสิ้นเชิง จากการที่ต้องเข้าออฟฟิศตอกบัตร สแกนนิ้วเพื่อเข้าไปนั่งทำงานที่โต๊ะประจำตำแหน่งตามปกติ ก็เปลี่ยนมาใช้การทำงานในรูปแบบของการ Remote Working , การทำงานจากบ้าน WFH (Work from home) มากยิ่งขึ้น ซึ่งล่าสุดจากการศึกษาของมหาวิทยาลัยระดับโลกอย่าง Standford พบว่าการทำงานในรูปแบบใหม่นั้น ช่วยให้ผลงานของพนักงานนั้นดีขึ้น 22% เลยทีเดียว ดังนั้นหากองค์กรสามารถปรับตัวได้เหมาะสมก็จะส่งผล ให้การทำงานในภาวะ New Normal นั้นมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สิ่งที่องค์กรและ HR ต้องปรับตัวในยุค WFH
จากตัวเลขการศึกษาวิจัยต่างๆ ทำให้เห็นว่าองค์กรมีโอกาสสูญเสียทรัพยากรบุคคลที่มีค่าได้ หากไม่วางแผนจัดการในเรื่องของการทำงานที่ออฟฟิศและแบบ Remote Working หรือ Work From Home (WFH) ให้ลงตัว ดังนั้นคงถึงเวลาที่ต้องศึกษาหาวิธีที่จะช่วยให้ทั้งพนักงานและองค์กรปรับตัวให้เข้ากับยุค WFH ได้อย่างลงตัวที่สุด
- สนับสนุนพนักงานในทุกด้าน การปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานไปเป็น Remote Working หรือ WFH ในระยะแรกอาจจะทำให้พนักงานเครียดและสับสนได้ ดังนั้นบริษัทควรให้การสนับสนุนในด้านต่างๆ มากขึ้น ตั้งแต่การแนะแนวทางการทำงานในรูปแบบใหม่ กฎระเบียบหรือข้อตกลงที่ชัดเจน การแนะนำให้คำปรึกษา การเพิ่มอุปกรณ์ด้านเทคโนโลยีในการทำงาน การเทรนนิ่งในการใช้เทคโนโลยีใหม่ในการทำงาน เป็นต้น
- สร้างความไว้วางใจ องค์กรควรทำให้พนักงานรู้สึกมีความมั่นใจและไว้วางใจ เพิ่มความถี่ในการสื่อสารช่องทางต่างๆ และเปิดโอกาสให้พนักงานรับรู้ข้อมูลความเคลื่อนไหวขององค์กร อีกทั้งเจ้านายเองก็ไม่ต้องการให้พนักงานที่ทำงานแบบ Remote working ต้องทำงานแบบไม่มีหยุดพัก เพราะ กลัวว่าพนักงานจะเหนื่อยล้าจากการทำงาน และหมดความตั้งใจในการทำงานของพวกเขาไปด้วย สิ่งนี้จึงถือเป็นเรื่องสำคัญในการเริ่มต้นข้อตกลงในการทำงานแบบ Remote working ร่วมกันในองค์กร
- เปลี่ยนมาเน้นที่ผลลัพธ์มากกว่าขั้นตอน โดยธรรมชาติของการทำงานแบบ Remote Working หรือ WFH นั้น มักจะมีความยืดหยุ่นที่มากกว่าการเข้าออฟฟิศแบบปกติ ดังนั้นหัวหน้างานอาจจะต้องให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ของการทำงานมากกว่าการเน้นขั้นตอนหรือเวลาในการทำงานตามปกติ ควรแจกจ่ายงานและแจ้งกำหนดการส่งงานที่ชัดเจน ในขณะเดียวกันก็ให้อิสระในการทำงาน โดยไม่ต้องเพ่งเล็งในเรื่องของขั้นตอนการทำงานมากจนเกินไปนัก หากคุณกังวลว่าจะเช็คได้อย่างไรว่าทำงานกันจริงหรือไม่ เพียงแค่คุณดูที่ผลงานที่ได้รับก็เป็นคำตอบสำหรับคำถามข้อนี้ได้ดีที่สุดแล้ว
การทำงานแบบ Remote Working หรือ WFH มีผลอย่างไรต่อพนักงาน
จากการสำรวจข้อมูลของบริษัท Big 4 อย่าง PwC นั้นทำให้ทราบว่า พนักงานราวๆ 22% นั้นกำลังวางแผนที่จะลาออกและหางานใหม่ และราวๆ 40% ของผู้ที่ถูกเลิกจ้างก็วางแผนหางานที่สามารถทำงานแบบ Remote Working หรือหางานที่ทำได้จากบ้าน WFH ได้เช่นกัน ส่วนข้อมูลจากบริษัทการตลาดระดับโลกอย่าง Hubspot ยังพบว่า 99% ของคนทำงานนั้นบอกว่า ถ้าเลือกได้ พวกเขาจะเลือกองค์กรที่สามารถทำงานจากบ้านได้จนเกษียณเลยทีเดียว นอกจากนี้จากการศึกษาของบริษัท Robert Half ยังพบอีกด้วยว่า มากกว่า 1 ใน 3 ของพนักงานประจำที่ทำ WFH คิดว่าอาจจะตัดสินใจลาออกหากบริษัทให้กลับไปทำงานในรูปแบบเดิมที่ต้องเข้าออฟฟิศ
จะเห็นได้ว่าหลังจากที่คนส่วนใหญ่ได้มีโอกาสทำงานแบบ Remote Working หรือทำงานอยู่กับบ้าน WFH แล้ว หลายคนพบว่าตนเองมีความสุขและชอบการทำงานในลักษณะ WFH มากกว่าการทำงานในรูปแบบเดิม จากบริษัทโดยจากการศึกษาของ Robert Half พบว่าปัจจัยหลักที่ทำให้พนักงานรู้สึกอยากทำงานแบบ Remote Working หรือ WFH มีดังนี้
- มีความยืดหยุ่นในเรื่องของเวลาในการเริ่มงานมากขึ้น
- เปลี่ยนสถานที่ทำงานได้ตามใจตัวเอง จะทำที่ไหนหรือมุมไหนของบ้านก็ได้
- ปราศจากสิ่งรบกวนในขณะทำงาน ทำให้มีสมาธิในการทำงานมากขึ้น
- ลดเวลาและลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางลงได้
- ลดความเครียดและทำให้มีเวลาอยู่กับครอบครัวมากยิ่งขึ้น
- สามารถแต่งกายแบบไหนก็ได้ตามต้องการ ทำให้รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น
แต่ใช่ว่าการทำงานแบบ Remote working จะมีแต่ข้อดีเสมอไปเท่านั้น พนักงานประจำอีกจำนวนไม่น้อยก็สัมผัสได้ถึงข้อเสียที่ตามมาด้วยเช่นกัน เช่น
- การจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะการทำงานแบบ remote working จะเป็นการทำงาน พูดคุย หรือประชุมงานกันผ่านออนไลน์ ซึ่งหากเกิดปัญหาใดๆ เกิดขึ้น อาจทำให้แก้ปัญหาเหล่านั้นได้ยุ่งยากกว่าการทำงานอยู่ที่ออฟฟิศนั่นเอง
- หลุดโฟกัสจากงาน วอกแวกไปทำอย่างอื่น จนทำให้งานไม่เสร็จตามเป้าหมายที่วางเอาไว้
- การรับรู้วัฒนธรรมองค์กรลดลง เพราส่วนใหญ่ทำงานที่บ้าน WFH จึงทำให้การรับรู้บรรยากาศการทำงานร่วมกันลดลง พนักงานไม่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
- การสัมพันธ์ระหว่างพนักงานที่น้อยลง ไม่เห็นหน้ากัน การปฏิสัมพันธ์ต่างๆ ก็น้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานใหม่ที่เริ่มงานในช่วง WFH พอดี อาจต้องปรับตัวมากยิ่งขึ้นกว่าปกติ
- เกิดความเครียดสะสม เพราะการ WFH อาจจะทำให้ไม่มีเวลาที่ตายตัวในการทำงาน บางคนอาจทำงานหนัก หรือเกิดความเครียดได้
- เริ่มเกิดปัญหาด้านสุขภาพ เนื่องจากการ WFH ส่วนใหญ่จะต้องนั่งทำงานหน้าคอมอยู่ตลอดเวลา นานๆ ไปอาจทำให้หลายๆ คนเกิดอาการปวดคอ ปวดตา ปวดไหล่ หรือปัญหาสุขภาพด้านอื่นๆ ตามมา
การทำงานแบบ Remote Working หรือ WFH ย่อมีทั้งข้อดีและข้อที่ควรระวังทั้งกับตัวพนักงานเองและกับองค์กร ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับลักษณะการทำงานและการตกลงกันของทีมหรือองค์กร แต่ย้ำอีกครั้งว่า ไม่มีการทำงานใดที่จะสามารถยืดหยุ่นได้ 100% เพราะทุกงานทำงานย่อมต้องมีขอบเขตในแบบฉบับของแต่ละองค์กรนั่นเอง